สมุนไพรเพื่อสุขภาพ

โดย: admin [IP: 171.96.240.xxx]
เมื่อ: 2015-01-28 14:24:51
สมุนไพรทั้งไทยและเทศ หากเราใช้อย่างถูกวิธีและเหมาะสม จะมีคุณประโยชน์มหาศาลในการบำรุงและบำบัดสุขภาพให้แข็งแรงสมบูรณ์ โดยไม่ต้องใช้สารเคมีและค่าใช้จ่ายในการไปพบแพทย์ รวมทั้งซื้อยาแผนปัจจุบันมากนัก
#1 โดย: admin [IP: 171.96.240.xxx]
เมื่อ: 2015-01-28 14:27:53
มะเขือพวง ประโยชน์ดี ๆ ช่วยลดเบาหวาน ผลาญไขมัน

มะเขือละคร-หมากแข้ง ลดเบาหวาน ลดไขมัน ช่วยย่อย (ไทยโพสต์)

ถ้าเดินเข้าตลาดแถวเมืองโคราชถามแม่ค้ามีมะเขือละครไหม แม่ค้าจะหยิบให้เลย แต่ถ้าไปถามตามตลาดแถวภาคกลาง ภาคเหนือ คงต้องตอบว่าไม่มีแน่นอน แถมต้องถูกย้อนถามด้วยว่ามันมีหน้าตาอย่างไร

ถ้าจะซื้อมะเขือละครในกรุงเทพฯ หรือภาคกลาง เราต้องเรียกมะเขือพวง ถึงบางอ้อ ! กันแล้วใช่ไหมคะ แต่ถ้าไปถามแถว ๆ อีสานนอกจากโคราชแล้ว ต้องเรียกหมากแข้ง จะรู้จักกัน แต่ถ้าภาคเหนือต้องถามหา มะแคว้งกุลา ถ้าลงไปใต้ต้องเรียกหามะแว้งช้าง ในภาษาต่างประเทศ รับจงกอม คือ ภาษาเขมร ภาษาอังกฤษมีหลายชื่อเรียก Turkey berry, Devil's fig, Prickly nightshade, Shoo-shoo bush, Pea eggplant แถบแคริบเบียนเรียก Susumba ในภาษาทมิฬและอินเดียใต้เรียก Sundakkai

มะเขือพวง น้อยคนนักที่จะชื่นชอบในรสชาติ นอกจากผู้ใหญ่วัยกลางคนที่อาจจะคุ้นเคยกับอาหารไทยประเภทแกงเขียวหวาน หรือผัดพะแนง มากกว่าไก่ทอด ไก่ย่างที่ติดดาว รสชาติของมะเขือพวงรสขมนิด ๆ ออกเฝื่อนน้อย ๆ มีเมล็ดภายในจำนวนมากราว 200-300 เมล็ด นับว่าเป็นพืชที่มีเมล็ดภายในจำนวนมาก

เวลารับประทานอาหารพวกพะแนงหรือแกงเขียวหวานทีไร มักจะตักมะเขือพวงทิ้งทุกที แต่คุณยายแนะว่าต้องรับประทานมะเขือพวงด้วยจะได้ช่วยย่อยอาหาร เนื่องจากกะทิย่อยยาก การรับประทานกับมะเขือพวงจึงช่วยในการย่อยอาหารได้ดีขึ้น ตั้งแต่นั้นมาก็ต้องไม่ลืมตักมะเขือพวงรับประทานด้วยทุกครั้งเมื่อรับประทานขนมจีนแกงเขียวหวาน

วัฒนธรรมในการรับประทานอาหารของคนไทยก็มีเสน่ห์ในการปรุงแต่ง ไม่ใช่แค่รสชาติ แต่ยังคำนึงถึงการตัดรส เสริมรส หรือการทำหน้าที่ของอาหารนั้นๆ ด้วย มะเขือพวงจึงเติมเสน่ห์ในเมนูอาหารไทยอย่างลงตัว

สรรพคุณของมะเขือพวงตามบันทึกสรรพคุณในเภสัชกรรมแผนโบราณ กล่าวว่า

ผล มีสรรพคุณแก้ไอ ขับเสมหะ คล้ายคลึงกับมะแว้งต้นและมะแว้งเครือ

ราก ใช้แก้เท้าแตกเป็นแผล

ใบ ใช้ห้ามเลือด

ทั้งต้น รักษากลากเกลื้อน รักษาโรคผิวหนัง แก้หืด ขับปัสสาวะ ช่วยย่อยอาหาร แก้ไอ ขับเหงื่อ ทำให้เลือดหมุนเวียนดี แก้ปวดฟกช้ำจากการทำงานหนัก แก้ไอเป็นเลือด แก้ปวดกระเพาะ แก้ฝีบวมมีหนองและอักเสบ

งานวิจัยในปัจจุบันบ่งชี้ว่า มะเขือพวง ช่วยในการย่อยอาหารได้ดี ช่วยลดระดับน้ำตาลในเลือด จึงมีการนำไปใช้ในกลุ่มผู้ป่วยเบาหวานมากขึ้น สารต่าง ๆ ที่พบในมะเขือพวง ได้แก่

สารทอร์โวไซด์ เอ, เอช (torvoside A, H) เป็นสเตียรอยด์ไกลไซด์ พบในลูกมะเขือ ต้านเชื้อไวรัสเริม และเชื้อ HIV

สารทอร์โวนิน บี (torvonin B) เป็นซาโปนินชนิดหนึ่ง เชื่อกันว่าทำให้มะเขือพวงมีฤทธิ์ขับเสมหะ

สารโซลานีน (solanine) เป็นอัลคาลอยด์จากพืชตระกูลมะเขือ โซลานีนเป็นสารที่ทำให้เกิดความไม่สมดุลของแคลเซียมในร่างกาย ผู้ที่ไวต่อโซลานีนอาจมีอาการท้องเสีย ปวดหัว หรืออาเจียน ถ้าทำให้สุกด้วยความร้อนแล้วโอกาสที่จะป่วยด้วยสารดังกล่าวนี้ก็จะลดลง

สารโซลาโซนีน และโซลามาจีน (solasonine and solamagine) เป็นไกลโคซิเลตอัลคาลอยด์ที่พบในพืชตระกูลมะเขือ ในมะเขือพวงบางสายพันธุ์ (มักพบแถบแคริบเบียน) มีปริมาณสารเหล่านี้มาก ผู้ที่ไวต่อสารดังกล่าวถ้ารับประทานมะเขือพวงดิบอาจเกิดอาการของระบบทางเดินอาหาร และระบบประสาทได้โซลาโซดีน (solasodine) เป็นสารที่มีสรรพคุณต้านโรคมะเร็ง จากการศึกษาวิจัยพบว่า สารโซลาโซดีนมีประสิทธิภาพยับยั้งการแบ่งตัวที่ผิดปกติของเซลล์อันเป็นสาเหตุหลักของโรคมะเร็ง

ในประเทศต่าง ๆ มีการใช้มะเขือพวงเพื่อใช้ในการรักษาโรคอย่างกว้างขวาง เช่น

จีน ใช้ต้มน้ำดื่มแก้ไอและบำรุงเลือด ทำให้ภูมิคุ้มกันแข็งแรง ผลแห้งย่างกินแกล้มอาหารบำรุงสายตาและรักษาอาการติดเชื้อแบคทีเรีย

อินเดีย กินผลเพื่อบำรุงตับ ช่วยบรรเทาโรคแผลในกระเพาะอาหาร ขับปัสสาวะ ช่วยย่อย และช่วยให้ผ่อนคลายง่วงนอน บำรุงตับ ใช้น้ำสกัดจากต้นมะเขือพวงแก้พิษแมลงกัดต่อย ทางตอนใต้ของประเทศอินเดียใช้ผลอ่อนบำรุงกำลังให้ร่างกาย ผลแห้งหุงน้ำมันเล็กน้อย บดเป็นผงกินครั้งละ 1 ช้อนชา ลดอาการไอและเสมหะ

แคเมอรูน ใช้ผลมะเขือพวงรักษาโรคความดันโลหิตสูง

ไอเวอรีโคสต์ นำผลมะเขือพวงใส่ซุปและซอสต่าง ๆ

สำหรับผู้ป่วยเบาหวาน แนะให้ลองทำน้ำพริกสูตรที่เหมาะกับผู้ป่วยเบาหวานรับประทาน โดยเครื่องปรุงทั้งหมด คือ หอม กระเทียม พริกหนุ่ม พริกขี้หนูเล็กน้อย มะเขือยาว นำไปปิ้งไฟให้หอม โขลกให้แหลก แล้วเอามะเขือพวงลงไปบุบให้แตก จากนั้นปรุงรสตามชอบ หรือมะเขือพวงจะปิ้งก่อนก็ได้ช่วยเพิ่มความหอม เหมาะกับผู้ป่ายเบาหวาน หรือไม่เป็นเบาหวานก็จัดเป็นเมนูต้านโรคได้

ทางด้านคุณค่าทางโภชนาการ มะเขือพวงมีความเด่นในสารอาหารหลายชนิด เช่น มีแคลเซียม ฟอสฟอรัส ธาตุเหล็ก และเส้นใยอาหารสูง เส้นใยอาหารที่พบคือกลุ่มแพกติน ซึ่งเป็นเส้นใยละลายน้ำ ช่วยเคลือบผนังลำไส้ ดูดซับไขมันส่วนเกินจากอาหาร ลดการดูดซึมสารอาหารคาร์โบไฮเดรต ดึงน้ำไว้จึงช่วยให้อุจจาระนุ่ม ขับถ่ายได้ง่าย จึงป้องกันโรคท้องผูกและริดสีดวงทวารได้ กระตุ้นให้ระบบขับถ่ายทำงานได้อย่างปกติ

บทบาทต่อการลดเบาหวานนั้น มีการค้นพบว่าช่วยลดน้ำตาลในเลือด แต่ต้องนำไปทำเป็นผลแห้งก่อนแล้วนำมาชงดื่ม ช่วยลดไขมันได้ด้วย การทำแห้งจะช่วยฆ่าฤทธิ์ของอัลคาลอยด์ที่มีฤทธิ์ต่อระบบประสาท และมีอันตรายต่อร่างกายในระยะยาวถ้าใช้ติดต่อเป็นเวลานาน


ขอบคุณเครดิต: http://health.kapook.com/view106341.html
#2 โดย: admin [IP: 171.96.240.xxx]
เมื่อ: 2015-01-28 14:40:44
สมุนไพรแก้ไข้ ของดีจากธรรมชาติ

ยาสมุนไพรลดไข้ (ไทยโพสต์)

อาการไข้ เกิดจากการที่ร่างกายได้รับเชื้อโรคพวกไวรัสหรือแบคทีเรียเข้าสู่ร่างกาย เกิดการติดเชื้อและอักเสบ กระบวนการขับไล่เชื้อโรคในร่างกายจะทำงานโดยส่งเม็ดเลือดขาวออกมากินเชื้อโรคในเม็ดเลือดแดง เรียกว่าระบบคุ้มกันของร่างกาย แต่ถ้าร่างกายปรับตัวไม่ทันกับการเปลี่ยนแปลงจากกระบวนการทำงานของเม็ดเลือดขาวหรือภูมิคุ้มกันอ่อนแอ ก็จะส่งผลให้เกิดอาการตัวร้อนเป็นไข้ ถ้ามีอาการตัวร้อนจัดหรือไข้สูงต้องกินยาลดไข้ช่วย แต่ถ้ามีไข้สูงติดต่อกันเป็นเวลา 24 ชั่วโมง อาจเป็นอันตรายได้ จึงควรรีบไปพบแพทย์

ในทางการแพทย์แผนไทยใช้ยาสมุนไพรจำพวกที่มีรสขม รักษาอาการไข้อักเสบ สมุนไพรรสขมมีฤทธิ์เย็น ช่วยลดไข้ บำรุงโลหิตและน้ำดี ช่วยในการเจริญอาหารและย่อยอาหาร ช่วยให้นอนหลับและขับถ่ายได้ดี สารรสขมที่พบส่วนใหญ่เป็นสารในกลุ่มอัลคาลอยด์ (alkaloid) และกลุ่มเทอร์ปีนส์ รวมถึงกลุ่มกลัยโคไซด์ (glycoside) และฟลาโวนอยด์แต่มีส่วนน้อย

อัลคาลอยด์เป็นสารอินทรีย์ที่มีรสขมไม่ละลายน้ำแต่ละลายได้ดีในตัวทำละลายอินทรีย์ พบได้ในส่วนต่าง ๆ ของพืชชั้นสูง ฤทธิ์ที่สำคัญของอัลคาลอยด์คือการออกฤทธิ์ต่อระบบประสาทสำหรับเทอร์ปีนมีอยู่หลายชนิด แต่มีพวกไดเทอปีนส์ที่มีสารรสขมมากที่สุด เช่น ในฟ้าทะลายโจร ซึ่งมีฤทธิ์แก้ไข้และพบว่าช่วยปกป้องตับจากสารพิษ ช่วยให้ระบบย่อยอาหารทำงานดีขึ้น ต้านการอักเสบและแก้ท้องเสีย กระตุ้นการทำงานของระบบภูมิคุ้มกัน ต้านแบคทีเรีย รักษาโรคในระบบทางเดินหายใจ แก้หวัด แก้เจ็บคอ

สารรสขมทำหน้าที่ในการกระตุ้นไขกระดูกผลิตเม็ดเลือดขาวออกมากินเชื้อโรคที่เม็ดเลือดแดง คือทำหน้าที่กวาดล้างสิ่งแปลกปลอมที่เข้าสู่ร่างกาย เป็นการเพิ่มภูมิคุ้มกันให้ร่างกายต่อสู้กับเชื้อโรคได้ แต่ถ้ารับประทานรสขมมากก็จะส่งผลให้เม็ดเลือดขาวมากเกินไปจนไปกินเม็ดเลือดแดงได้ ทำให้มีปริมาณเม็ดเลือดขาวมากกว่าเม็ดเลือดแดง จึงห้ามใช้ยารสขมติดต่อกันเป็นระยะเวลานานเกิน 7 วัน

รสขมแสลงกับคนที่เป็นโรคหัวใจ หรือคนที่มีอาการท้องอืดเฟ้อจุกเสียดแน่นอ่อนเพลีย กำลังตก แต่ในกรณีที่เป็นไข้มีอาการหนาวสั่นเนื่องจากภายในร่างกายมีความเย็นจึงมีอาการหนาวสั่น กลุ่มนี้จะไม่ใช้ตัวยารสขมหรือยาเย็นเพราะยิ่งไปเพิ่มความเย็นภายในร่างกาย แต่จะใช้ตัวยาที่มีรสร้อน เช่น ขิง เพื่อไล่ความเย็นออกจากร่างกาย

การรักษาอาการไข้ใช้ทั้งยาตำรับและยาเดี่ยว หรือยากลางบ้านที่หาได้ทั่วไป ซึ่งใช้ได้ในรูปของอาหารและยา ยาตำรับเป็นยาที่อยู่ในบัญชียาหลักแห่งชาติ คือ ยาห้ารากหรือเบญจโลกวิเชียร ยาตัวนี้ยังใช้ในการรักษาไข้เลือดออก ไข้ชิคุนกุนยาได้ดี และยาจันทลีลา ซึ่งจะใช้แก้ไข้หัวลมและไข้ที่เกิดจากปอด คือไข้ที่มักเป็นในช่วงหลังเวลา 14.00 น.ได้ดี ส่วนยาเดี่ยวที่ใช้กันมาก ได้แก่ ฟ้าทะลายโจร และยังมีพวกสมุนไพรกลุ่มหญ้าต่างๆ มีสรรพคุณที่แก้ไข้อย่างดีเช่นกัน

ฟ้าทะลายโจร

ใช้ใบ/ทั้งต้น รสขม แก้ไข้ แก้หวัด แก้ทอนซิลอักเสบ แก้บิด แก้ท้องเดิน

วิธีใช้
แก้ไข้ เป็นหวัด ปวดหัว ตัวร้อน ใช้ใบและกิ่ง 1 กำมือ (แห้งหนัก 3 กรัม สดหนัก 25 กรัม) ต้มน้ำดื่มก่อนอาหารวันละ 2 ครั้ง เช้า-เย็น หรือเวลามีอาการ

ปัจจุบันมีฟ้าทะลายโจรแบบเม็ดและแคปซูลจำหน่ายทั่วไป ซึ่งใช้ง่ายกว่าการต้มน้ำดื่มมาก

ข้อควรระวัง
ฟ้าทะลายโจรเป็นยาเย็น ใช้ติดต่อกันได้ไม่เกิน 7 วัน ถ้าใช้ในระยะยาวกว่านี้อาจทำให้เกิดอาการหนาวสั่นหรือมือ-เท้าเย็น กล้ามเนื้ออ่อนเปลี้ย หรืออ่อนเพลีย กำลังตก

-----------------------------------------------------------------------------------------------

บอระเพ็ด

เถา รสขมเย็น แก้ไข้ทุกชนิด แก้ร้อนในกระหายน้ำ ทำให้เลือดเย็น บำรุงน้ำดี บำรุงธาตุไฟ เจริญอาหาร การใช้ให้ใช้เถา 30-40 กรัม ตำคั้นเอาน้ำดื่ม หรือต้มกับน้ำสะอาด โดยต้มน้ำ 3 ส่วน เคี่ยวให้เหลือน้ำยา 1 ส่วน ใช้ดื่มก่อนอาหารครั้งละ 1 ช้อนโต๊ะ วันละ 2 ครั้ง เช้า-เย็น หรือเมื่อมีอาการ

-----------------------------------------------------------------------------------------------

หญ้าตีนกา

ใช้ทั้งต้น ขมเย็น แก้พิษไข้ ทำให้ใจชุ่มชื่น แก้ช้ำใน วิธีใช้ให้ใช้ทั้งต้นสัก 1 กำมือ ต้มเอาน้ำดื่มลดไข้ ช่วยให้จิตใจชุ่มชื่นหรือทั้งต้นตำกับเหล้า ใช้พอกหรือทาแก้ฟกบวม แก้ปวดแสบปวดร้อนตามร่างกาย

-----------------------------------------------------------------------------------------------

ดอกชบา

ใช้ดอก รสหวานเย็น โดยใช้ดอกชบา 4 ดอกแช่ในน้ำต้มสุก 2 แก้ว แล้วดื่มต่างน้ำ จะช่วยดับร้อนผ่อนกระหายและแก้ไข้ได้ดี

-----------------------------------------------------------------------------------------------

ดอกบัวหลวง

ใช้เกสรและดอก รสฝาดหอม แก้ไข้ แก้เสมหะและโลหิต บำรุงครรภ์ บำรุงหัวใจ บำรุงกำลัง ใช้เกสรดอกหรือทั้งดอก ต้มเอาน้ำดื่มแก้ไข้ หรือใช้กลีบดอกปรุงเป็นอาหารแก้ไข้

-----------------------------------------------------------------------------------------------

หญ้าดอกขาว

ใช้ทั้งต้น รสเย็นขื่น ลดไข้ แก้ไอ วิธีใช้เอาทั้งต้นและใบนำไปต้มกับน้ำดื่มแก้ไข้

-----------------------------------------------------------------------------------------------

หญ้าตีนนก

ใช้ทั้งต้น รสขมเย็น แก้พิษไข้ แก้ไข้เพื่อดี แก้ดีแห้ง แก้ดีซ่าน วิธีใช้เอาทั้งต้นต้มกับน้ำดื่มแก้ไข้ ช่วยให้จิตใจชุ่มชื่นและแก้ช้ำใน

-----------------------------------------------------------------------------------------------

คูน

ใช้ดอก รสขมเปรี้ยว แก้ไข้ ระบายท้อง แก้พรรดึก แก้แผลเรื้อรัง แก้โรคกระเพาะอาหาร วิธีใช้เอาดอกคูนปรุงเป็นของหวานหรืออาหารรับประทานแก้ไข้

-----------------------------------------------------------------------------------------------

ทองกวาว

ใช้ดอก รสฝาดขม ถอนพิษไข้ ขับปัสสาวะให้ใช้ดอกปรุงอาหาร หรือต้มกับน้ำดื่มช่วยลดไข้

-----------------------------------------------------------------------------------------------

ขิง

ใช้เหง้า รสเผ็ดร้อน แก้ไอ แก้ไข้ แก้ท้องอืดเฟ้อ โดยนำเหง้าแก่สด 10 กรัม และขิงแห้ง 2 กรัม ต้มกับน้ำตาลทรายแดง ดื่มเพื่อรักษาอาการ หรือใช้ขิงแก่ 2-3 เหง้านำมาทุบให้ละเอียดต้มกับน้ำอาบเพื่อขับเหงื่อ ลดอาการไข้เนื่องจากหวัด

สมุนไพรเหล่านี้หาได้ง่าย ใช้แก้อาการไข้เบื้องต้นได้ แต่อย่าปล่อยไว้นาน และถ้ามีไข้สูงต้องรีบไปพบแพทย์เพื่อตรวจหาสาเหตุให้ชัดเจน เพราะถ้าปล่อยให้โรคลุกลามอาจนำไปสู่โรคอื่น ๆ จะทำให้การรักษายากยิ่งขึ้น



ขอบคุณเครดิต: http://health.kapook.com/view102214.html

ชื่อผู้ตอบ:

Visitors: 64,813